อาการชาตามนิ้วมือ เป็นอาการที่สามารถพบได้บ่อย โดยเฉพาะผู้ที่ใช้มือและแขนในการทำงานอย่างหนัก โดยนอกจากอาการชาจะมีความรู้สึกเจ็บแปล๊บที่บริเวณปลายนิ้ว คล้ายถูกเข็มแทง หรือไฟฟ้าช็อต บางคนอาจรู้สึกปวดแสบปวดร้อนภายใน ซึ่งหากมีความรุนแรงมาก อาจจะทำให้ไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ตามปกติ หรือ อาจเกิดได้จากการขาดวิตามิน B1 B6 และ B12 ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการชา หรือที่เรียกว่า โรคปลายประสาทอักเสบ ได้เช่นกัน
สาเหตุของการชาตามนิ้วมือ
ส่วนมากสาเหตุสำคัญของอาการชาตามนิ้วมือ คือ เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของนิ้วมือ และเส้นเลือดที่เข้าไปหล่อเลี้ยงมือถูกกดทับจากปัญหาต่างๆ เช่น กระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ จากการเจ็บป่วยบางชนิด หรือพฤติกรรมในการใช้ชีวิต
เราสามารถจำแนกบริเวณที่ชาตามสาเหตุของโรคได้ ดังต่อไปนี้
- เกิดการชาเฉพาะนิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วโป้ง มีสาเหตุมาจากการกดทับบริเวณเส้นประสาทข้อมือ หรืออาจเป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกคอทับเส้นประสาท ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่ามาก
- เกิดการชาเฉพาะนิ้วนาง และนิ้วก้อย มีสาเหตุจากการกดทับเส้นประสาทอัลนาร์ (Ulnar nerve)
- ชาบริเวณปลายนิ้วมือ และนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากโรคเบาหวาน เมื่อผู้ป่วยมีภาวะน้ำตาลสูงเกิน น้ำตาลอาจจะสร้างความเสียหายให้กับเส้นประสาทส่วนปลายต่างๆ โดยเฉพาะเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของมือ และเท้า
- เกิดการชาตามมือและนิ้วมือ ร่วมกับการปวดแสบปวดร้อนตามกระดูกและข้อ มีสาเหตุมาจากโรคเก๊าท์ หรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ที่เกิดจากกรดยูริกในร่างกายสูงกว่าปกติ

วิธีรักษาอาการชาตามนิ้วมือ
1. รักษาด้วยตัวเอง กรณีมีอาการไม่มาก
- ประคบร้อน เพื่อให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าหากพบการอักเสบ หรือบวม ควรใช้การประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการแทน
- ยืดเส้นยืดสาย ด้วยการขยับนิ้วมือบ่อยๆ ร่วมกับการสะบัดข้อมือ หมุนแขน หมุนไหล่ เพื่อไม่ให้เกิดการกดทับของเส้นประสาท
- หลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวข้อมือมากเกินไป รวมถึงการรับแรงกระแทก การสั่นสะเทือนบริเวณข้อมือ
- แก้ด้วยการนวด บีบนวดบริเวณส่วนที่เป็นเหน็บชา จะช่วยให้อาการหายได้ไวขึ้น แต่หากเป็นบ่อย หายช้า สามารถแก้ด้วยการไปใช้บริการนวดตามร้านนวดได้
2. ไปพบแพทย์
- การให้ยา แพทย์อาจจ่ายยาต้านอักเสบที่ไม่มีสเตียรอยด์ (ยา NSAIDs) เป็นส่วนผสม เพื่อรักษาในระยะต้นๆ ซึ่งถ้าหากยังไม่ดีขึ้นก็จำเป็นที่จะต้องฉีดสเตียรอยด์ เพื่อลดการอักเสบให้ได้ผลมากกว่าเดิม
- การผ่าตัด หากพบว่ามีบางสิ่งบางอย่าง เช่น เส้นเอ็น กระดูก หรือเนื้อเยื่อต่างๆ ที่กดทับเส้นประสาท และยาทั่วไปไม่สามารถรักษาได้ แพทย์อาจจะพิจารณาทำการผ่าตัดเพื่อเอาสิ่งที่กดทับออก
- อาจมีบางกรณีที่แพทย์เลือกใช้วิธีอื่นในการรักษา เช่น แนะนำการฝังเข็มแบบจีน หรือใส่เฝือกระยะสั้นๆ ให้ ซึ่งก็แล้วแต่อาการและสาเหตุของผู้ป่วยที่ต้องเลือกใช้วิธีการรักษาให้เหมาะสมมากที่สุดนั่นเอง
นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรแก้อาการชาได้ คือ พริก หรือ ขิง เป็นสมุนไพรที่ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ลดอาการเหน็บชาได้

วิธีป้องกันอาการชาตามนิ้วมือ
- ทานอาหารที่เน้นผัก ผลไม้ และอาหารที่มีวิตามินบี 1-6-12 อย่างเพียงพอ เช่น ธัญพืช ไข่ เนื้อปลา
- การเปลี่ยนอิริยาบถทุกๆ 30-45 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อได้มีการคลายตัวลงจากการเกร็งนานๆ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดอาการชาตามนิ้วมือได้
- หมั่นยืดหยุ่นกล้ามเนื้ออยู่เสมอ ด้วยการกางนิ้วให้สุด ดัดนิ้ว หรือนวดนิ้ว จะช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้ดีขึ้น
- หาตัวช่วยเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับนิ้วมือ และข้อมือมากยิ่งขึ้น เช่น ใช้หมอนรองข้อมือเมื่อพิมพ์งาน หรือถ้าหากแป้นพิมพ์มีความแข็งเกินไป ก็ควรเปลี่ยนใหม่ให้พิมพ์สะดวกสบายยิ่งขึ้นโดยที่ไม่ต้องออกแรงมาก
- ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากจนเกินไป เพราะนั่นเป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดอาการชาตามนิ้วมือเช่นกัน
- เมื่อมีโรคประจำตัว ควรรีบเข้ารับการรักษาทัน และเชื่อฟังคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเรื่องการทานยา และการนัดหมายของแพทย์ในครั้งต่อไป
ขอบคุณที่มา
honestdocs.co megawecare.co.th