การนวดทารก นั้นมีประโยชน์มากมายที่คุณแม่คาดไม่ถึง การนวดเด็กก็เหมือนในผู้ใหญ่ ช่วยทำให้ผ่อนคลาย เด็กสุขภาพดี ส่งผลให้พัฒนาการหลายๆด้านดีตามไปด้วย และในขณะที่นวดนั้นเป็นการส่งเสริมพัฒนาการด้านการได้ยินจากการที่คุณแม่พูดกับเขาอยู่ตลอด หรือจะเปิดเพลงคลอไปด้วย ช่วยส่งเสริมพัฒนาการการมองเห็นในกับหนูน้อย ช่วงนวดคุณแม่มีโอกาสที่จะยื่นหน้าเข้าหาลูกน้อยอยู่บ่อยๆ ทำให้เขาเรียนรู้อวัยวะต่างๆ บนใบหน้าของคุณแม่ คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้เลี้ยง ต้องเลือกเวลาที่เหมาะสมในการนวดคือ เวลาที่ลูกไม่โยเย ก่อนมื้อนม หรือหลังอาบน้ำ และผู้นวดต้องไม่เครียดด้วยนะคะ การนวดถึงได้ดำเนินไปด้วยดีค่ะ
การนวดตัวให้ลูกน้อยเป็นประจำเป็นวิธีที่มีประโยชน์เป็นอย่างมาก มีเวลาสร้างสายสัมพันธ์เพิ่มมากขึ้น กระตุ้นประสาทสัมผัสมากยิ่งขึ้น พัฒนาการด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดสำหรับพัฒนาการด้านอารมณ์ของลูกน้อย คือการสัมผัสที่เต็มไปด้วยความรักของพ่อแม่ โดยมีการวิจัยที่แสดงให้เห็นว่า การสัมผัสและนวดตัวเป็นกิจวัตรโดยพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงที่ใส่ใจ มีผลสำคัญต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการ การสื่อสาร และการเรียนรู้ของเด็กทารก

ประโยชน์ของการนวดทารก
- ช่วยผ่อนคลายคลายกล้ามเนื้อ ทำให้เลือดไหลเวียนได้ดี นำออกซิเจนไปสู่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทำให้เด็กอารมณ์ดีและมีพัฒนาการที่ดีตามไปด้วย
- ช่วยไล่ลมในช่องท้อง ลดอาการท้องอืด ส่งเสริมการย่อย ในเด็กโคลิกแนะนำนวดเพื่อบำบัดอากรโคลิคได้
- เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีของแม่และลูก ขณะนวดคุณแม่ได้มีโอกาสพูดคุย ลูกก็จะส่งเสียงอ้อแอ้ตามไปด้วย
- ช่วยให้คุณแม่ได้สังเกตเห็นถึงอาการผิดปกติต่างๆ ของลูกเช่น ผิวหนัง ผดผื่นตามบริเวณอื่นๆ
- ช่วยกระตุ้นการขับถ่าย เพราะลูกได้เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เป็นการกระตุ้นให้ลำไส้ได้เคลื่อนไหว หากลำไส้เคลื่อนไหวดี การขับถ่ายคล่องตัว ลดอาการท้องผูกให้กับลูกน้อยได้ดี
- ช่วยให้ลูกน้อยหลับได้สนิทยิ่งขึ้นในตอนกลางคืน
- ช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้กับลูก
- บรรเทาอาการอุดตันของจมูก และความอึดอัดที่เกิดขึ้นขณะฟันขึ้น

จุดที่คุณแม่ควรนวดทารก
- นวดริมฝีปาก จุดนี้คุณแม่ควรนวดเพื่อกระตุ้นการกินและการดูดกลืนของลูก โดยใช้ปลายนิ้วหัวแม่มือทั้งสองข้างวางตรงกลางเหนือริมฝีปากบนของลูก ลากออกมาเป็นเส้นตรงจนสุดขอบปาก ทำซ้ำประมาณ 5 ครั้ง แล้วนวดแบบเดียวกันที่ริมฝีปากล่าง จากนั้นใช้ปลายนิ้วกลางนวดคลึงขอบปากเล็กๆ วนเป็นวงกลมจนครบรอบ แล้วนวดคลึงแบบวนกลับอีกครั้ง
- นวดหน้าอก เป็นการนวดเพื่อช่วยให้ลูกหายใจอย่างปลอดโปร่ง และจังหวะการทำงานของปอดมีประสิทธิภาพ โดยใช้ฝ่ามือทั้งสองข้างลูบไล้จากกลางอกลูก แยกมือออกจากกันไปทางด้านข้างลำตัวตามแนวซี่โครงแล้วโค้งลงมาชนกันที่กลางท้องน้อย เหมือนกำลังวาดรูปหัวใจลงบนอกน้อยๆ ของลูกเลยใช่ไหมคะ
- นวดราวนมและท้องน้อย ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารค่ะ โดยใช้ฝ่ามือลูบเป็นเส้นตรงจากใต้ราวนมด้านซ้ายถึงท้องน้อย ตามด้วยการใช้ฝ่ามือลูบบริเวณท้องเป็นตัว L กลับหัว โดยลากมือจากซ้ายไปขวาตามแนวนอนถึงใต้ชายโครงซ้าย แล้วลากตรงลงมาที่ท้องน้อย จากนั้นใช้นิ้วมือนวดคล้ายๆ การเล่นปูไต่ที่ท้องน้อยของลูก แล้วใช้มือขวานวดจากใต้ราวนม แล้วเคลื่อนมือจากด้านล่างถึงท้องน้อยทีละข้างสลับกันเป็นจังหวะ สุดท้ายใช้มือซ้ายจับข้อเท้าทั้งสองข้างของลูกรวบเข้าหากันเพื่อให้กระเพาะของเขาผ่อนคลาย
- นวดกล้ามเนื้อแขนและมือ เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียด กระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิตจากปลายแขนกลับสู่หัวใจลูก โดยการจับข้อมือลูกยกขึ้นเหนือศีรษะแล้วนวดใต้รักแร้ ใช้มืออีกข้างจับรอบแขนนวดคลึงเป็นวงกลมค่อยๆ เลื่อนขึ้นลงจากต้นแขนไปที่ข้อมือ จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือกดฝ่ามือลูกเบาๆ ทั้ง 2 ข้าง

สิ่งที่คุณแม่ต้องรู้ก่อนการนวดทารก
- ขณะนวดควรพูดคุยกับทารก ร้องเพลงหรือเปิดเพลงเบาๆ
- ไม่นวดบริเวณที่เป็นจุดบอบบางของทารก
- สังเกตปฏิกิริยาทารกที่มีต่อการนวดสัมผัส และคอยสังเกตว่าทารกชอบให้นวดบริเวณใดเป็นพิเศษหรือไม่ หากไม่ชอบ ร้องไห้หรือแสดงอาการไม่พอใจอื่นๆ ควรหยุดนวดทันที
- ช่วงเวลาที่เหมาะสม หลังอาบน้ำหรือเวลาที่แม่ลูกอารมณ์ดีทั้ง 2 ฝ่าย คุณแม่หงุดหงิดไม่ควรนวดลูก เพราะเด็กสัมผัสได้ถึงความเครียดของแม่ ณ เวลานั้นๆ และคุณแม่อาจเผลอลงน้ำหนักแรงไปในการนวด เนื่องจากอารมณ์ขึ้นๆลงๆ
- เวลาในการนวด 30 – 40 นาที
- อายุที่เหมาะสม สามารถนวดได้ตั้งแต่แรกเกิด
ขอบคุณที่มา mamaexpert.com johnsonsbaby.co.th babyswimmingthailand.com