เล็บ (nails) เป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกาย นอกจากจะช่วยปกป้องนิ้วมือจากอันตรายต่าง ๆ และช่วยหยิบจับสิ่งของได้ถนัดมือแล้ว ยังสามารถบอกเราให้รู้ถึงสุขภาวะในร่างกายเราอีกด้วย ดังนั้นเราควรดูแลให้เล็บเรามีสุขภาพที่ดีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะที่สุดในการดูแลเล็บ ก็คือหลังอาบน้ำ หรือหลังล้างจาน เพราะเป็นช่วงที่เล็บสะอาด และอ่อนนุ่มที่สุดนั่นเอง

ประโยชน์ของเล็บ
- ช่วยป้องกันอันตรายที่จะเกิดต่อนิ้วส่วนปลาย
- ช่วยให้นิ้วมือสามารถหยิบจับสิ่งของได้ดี โดยเฉพาะสิ่งของที่มีขนาดเล็ก
- ช่วยบรรเทาอาการคันตามร่างกาย
- ช่วยในการแกะ แงะ สิ่งของต่างๆ
- ส่วนเล็บนิ้วเท้ามีส่วนช่วยให้การเคลื่อนไหวของเท้าได้ดียิ่งขึ้น
- เป็นแหล่งข้อมูลต่างๆ ของร่างกาย เช่น
- บ่งบอกการเจ็บป่วยของร่างกาย หากร่างกายเกิดการเจ็บป่วย เล็บก็จะหยุดการเจริญเติบโตทำให้เห็นเป็นร่องของเล็บ เป็นอาการแสดงอย่างหนึ่งที่ตรวจพบได้
- ใช้ตรวจหายาหรือสารพิษที่สะสมในร่างกายได้ เนื่องจากยาหรือสารพิษจะมาสะสมที่เล็บนั่นเอง
- ในโรคบางโรคที่เป็นโรคทางเมตาบอลิก (metabolic disease) หรือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย ในการเปลี่ยนสารอาหารเป็นพลังงาน การตรวจวิเคราะห์เล็บก็ช่วยในการวินิจฉัย หรือติดตามการรักษาได้
- การตัดแผ่นเล็บไปตรวจหาหมู่เลือด สกัด DNA จากแผ่นเล็บ หรือตรวจหาลักษณะทางพันธุกรรมจากแผ่นเล็บ
- เพิ่มความสวยงาม และความมั่นใจ เพราะการดูแลเล็บให้สวยและดูดีอยู่ตลอดจะช่วยเสริมบุคลิกภาพให้บุคคลดูดีขึ้นได้
อาการของเล็บที่บ่งบอกลักษณะโรค
- โรคหัวใจและโรคปอดเรื้อรัง อาจจะพบลักษณะของเล็บปุ้ม เล็บงุ้มมากผิดปกติ มีเล็บซีดเขียว
- โรคไต ลักษณะของเล็บมีสีแตกต่างกัน คือ ส่วนที่อยู่ชิดโพรงจมูกเล็บจะมีสีขาวส่วนอีกครึ่งหนึ่งส่วนปลายเล็บเป็นสีปกติ เกิดจากบริเวณใต้ฐานเล็บมีการบวม
- โรคมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) อาจจะทำให้ เล็บเปลี่ยนสี มีจุด สีดำ หรือแถบสีดำเกิดขึ้นได้ที่บริเวณเล็บ

วิธีการดูแลรักษาเล็บ
- อย่าล้างมือบ่อยเกินไป หลังล้างมือแล้ว เช็ดให้แห้ง หมั่นทาโลชั่นที่บำรุงมือและเล็บโดยเฉพาะ (Hand and nail) อย่างสม่ำเสมอ
- ตัดเล็บหลังอาบน้ำ ล้างจาน ซักผ้า หรือถูบ้าน เพราะเล็บจะมีความอ่อนนุ่ม ทำให้ง่ายต่อการตัดแต่ง หรือสามารถแช่เล็บในน้ำอุ่น 5 นาทีก่อนทำการตัดเล็บได้เช่นกัน
- ทาสีเล็บให้น้อยลงเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เล็บได้พักผ่อน หลีกเลี่ยงการเพ้นท์สีเล็บที่อาจจะมีสารเคมีทำลายเนื้อเล็บ ควรหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ทาเล็บชนิดแห้งเร็วที่มีส่วนผสมของ อะซิโตน (acetone) เพราะจะดึงความชุ่มชื้นไปจากเล็บ ทำให้เล็บแห้ง และลอกหลุดได้ง่าย และก่อนทาเล็บทุกครั้ง ควรใช้น้ำยาเคลือบเล็บชนิดใสทาก่อนที่จะลงสี จะช่วยไม่ให้เล็บเสียความชุ่มชื้น และลดการสัมผัสกับสีทาเล็บโดยตรง ซึ่งอาจทำให้เล็บเหลืองได้ง่าย
- ตัดเล็บให้มีขนาดสั้นพอประมาณ เพราะการไว้เล็บยาวเกินไปอาจทำให้เล็บเกิดฉีกขาดได้ง่ายควรตัดให้มีความโค้งมนไปตามนิ้วมือ ส่วนเล็บเท้านั้น พยายามตัดให้เป็นเส้นตรงมากที่สุด เพื่อลดการสะสมของความสกปรกตามซอกเล็บ และโอกาสเกิดเล็บขบ
- ล้างทำความสะอาดเล็บ ควรล้างมือและเล็บด้วยน้ำสบู่อุ่นๆ ใช้แปรงนุ่มๆ ขัดตามซอกเล็บเบาๆ และล้างออกด้วยน้ำสะอาด ชโลมด้วยครีมบำรุง เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับมือและเล็บ

นอกจากนี้การรับประทานอาหาร โดยเฉพาะสารอาหารประเภทเหล็ก แคลเซียม วิตามินบี และโพแทสเซียม เช่น อาหารจำพวกปลา (ปลาแซลมอน ปลาหิมะ ปลาเฮอริง หรือปลากระป๋องที่เป็นปลาแมคเคอเรล) ธัญพืช ไข่แดง เนื้อสัตว์ และอาหารทะเล จะช่วยเสริมให้เล็บแข็งแรงไม่เปราะหักง่าย
ขอบคุณที่มา sanook.com health.kapook.com sites.google.com